โรคกรดไหลย้อน คืออะไร อาการเป็นอย่างไร รักษาอย่างไร
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease) หลายท่านคงมัวแต่วุ่นวายอยู่แต่กับการทำงาน หรือการเรียนมากจนเกินไป จนไม่มีเวลามาดูแลเรื่องอาหารการกินเท่าที่ควร ทำให้การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณอก และรู้สึกเปรี้ยวขมในปาก หากใครเคยมีอาการเช่นนี้ แสดงว่าคุณอาจกำลังเป็น “โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease)” ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารกลับไปที่หลอดอาหาร ถึงแม้จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรค วันนี้เราจะมาบอกวิธีการปฏิบัติตัว แนวทางการรักษา และเทคนิคต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คุณมีอาการดีขึ้น อาการของโรคกรดไหลย้อน อาการสำคัญที่พบบ่อยในโรคกรดไหลย้อนได้แก่
• รู้สึกปวดแสบปวดร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหาร
• รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ
• มีอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง
อาการอื่นๆ ที่คุณอาจคาดไม่ถึง
• อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
• เสียงแหบเรื้อรัง เสียงเปลี่ยนไป
• ไอเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน
• กลืนอาหารหรือน้ำลายติดขัดเหมือนมีก้อนจุกในลำคอ
• โรคหืดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ด้วยยาตามปกติ
ยิ่งไปกว่านั้นโรคกรดไหลย้อนยังอาจทำให้หลอดอาหารเกิดการอักเสบเป็นแผลรุนแรงจนตีบ หรือเกิดเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
กระเพาะอาหาร
ระบบทางเดินอาหารส่วนต้นมีจุดเริ่มต้นที่ปาก เมื่อเราตักอาหารใส่ปากเคี้ยวและกลืน อาหารจะผ่านหลอดอาหารลงมาสู่ส่วนปลายของหลอดอาหารที่มีลักษณะเป็นหูรูด ที่เรียกว่า “หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (Lower esophageal sphincter)” ผ่านลงสู่กระเพาะอาหารซึ่งมีน้ำย่อยที่เป็นกรดย่อยอาหารให้มีขนาดเล็กลง และส่งผ่านไปยังลำไส้เล็กเพื่อย่อยต่อไป
หูรูดหลอดอาหาร
หูรูดหลอดอาหารที่แข็งแรง เป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับ ในภาวะปกตินั้น หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างนี้จะเปิดเฉพาะเมื่อมีการกลืนอาหาร เพื่อให้อาหารผ่านอย่างสะดวก และบีบรัดตัวปิดทันทีเพื่อไม่ให้อาหารที่กลืนลงไปแล้ว และกรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปอีก
จะเกิดอะไรขึ้นหากหูรูดหลอดอาหารอ่อนแอ?
หูรูดหลอดอาหารอาจเกิดการหย่อนตัวหรือเปิดบ่อยกว่าปกติได้จากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ การรับประทานอาหารรสจัด แรงกดต่อกระเพาะอาหารที่มากเกินไป การสูบบุหรี่ ซึ่งส่งผลให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปทำอันตรายต่อเยื่อบุหลอดอาหารที่มีความอ่อนบาง และไม่มีกลไกป้องกันกรดเหมือนกับเยื่อบุกระเพาะอาหาร
การปรับการดำเนินชีวิตเพื่อบรรเทาอาการ
อาการของโรคกรดไหลย้อนสามารถบรรเทาให้เบาบางลงได้ การปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันเพียงบางอย่าง เช่น อาหารที่คุณรับประทานให้ลดความจัดจ้านลง กินอาหารให้ตรงเวลา หรือแม้แต่ขนาดของเสื้อผ้าที่คุณสวมใส่
การรับประทานอาหาร
– คุณอาจไม่ทราบมาก่อนว่าเครื่องดื่มถ้วยโปรดของคุณ เช่น กาแฟ อาจเป็นตัวการของโรคกรดไหลย้อน ดังนั้น อาหารที่คุณพึงหลีกเลี่ยง ได้แก่
• ชา กาแฟ และน้ำอัดลมทุกชนิด
• อาหารทอด อาหารไขมันสูง
• อาหารรสจัด รสเผ็ด
• ผลไม้รสเปรี้ยว ส้ม มะนาว มะเขือเทศ
• หอมหัวใหญ่ สะระแหน่ เปปเปอร์มิ้นต์
• ช็อกโกแลต
รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ
การรับประทานอาหารอิ่มเกินไปจะทำให้หูรูดหลอดอาหารเปิดออกง่ายขึ้น ดังนั้นควรรับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง เช่น หากปกติทานอาหาร 3 มื้อ ก็อาจจะแบ่งการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ 5มื้อแทน
ไม่ควรเข้านอน หรือเอนกายหลังรับประทานอาหาร
หลังรับประทานอาหารไม่ควรเข้านอนหรือเอนกายทันที ควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารก่อน
งดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่จะเพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้หูรูดกระเพาะอาหารอ่อนแอ ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้หูรูดเปิดออกได้ ลองหลีกเลี่ยงหรือเลิกสิ่งเหล่านี้แล้วคุณจะสังเกตถึงอาการที่ดีขึ้น
การปรับการดำเนินชีวิตเพื่อบรรเทาอาการ
ยกศีรษะและลำตัวให้สูง
กรดไหลย้อนมักเกิดขณะคุณนอนราบ ดังนั้นการนอนโดยเสริมด้านหัวเตียงให้ยกสูงขึ้น จะช่วยป้องกันการไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารได้ ไม่ควรใช้วิธีการหนุนหมอนหลายใบ
ลดแรงกดต่อกระเพาะอาหาร
เสื้อผ้าและเข็มขัดที่รัดแน่นบริเวณผนังหน้าท้อง การก้มตัวไปด้านหน้า น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน ล้วนเป็นสาเหตุที่เพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร และทำให้กรดไหลย้อนกลับ คุณจึงควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหรือเข็มขัดที่รัดแน่น การก้มตัว และถ้าคุณมีปัญหาน้ำหนักเกินควรลดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ผ่อนคลายความเครียด
ซึ่งความเครียดจะเป็นสาเหตุให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ดังนั้นจึงควรหาเวลาพักผ่อน และออกกำลังกายให้สมดุลกับตารางชีวิตของคุณ
การตั้งครรภ์
ผู้หญิงตั้งครรภ์มักเป็นโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ทำให้หูรูดหลอดอาหารอ่อนแอลงรวมถึงมดลูกที่ขยายตัว จะไปเพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร ซึ่งหากคุณมีอาการขณะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์
วิธีการรักษาด้วยยา
การรักษาด้วยยาเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาโรคกรดไหลย้อนในผู้ป่วยส่วนใหญ่อย่างได้ผล การรักษาด้วยยามีเป้าหมายต่างกันไปตามชนิดของยาและอาการ ยาที่ใช้รักษาโรคกรดไหลย้อน สามารถแบ่งตามกลุ่มการออกฤทธิ์ได้ดังนี้
• ยาลดกรด (Antacid) ลดความเป็นกรดของน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ใช้ในผู้ที่มีอาการเล็กน้อย หรือเป็นเพียงครั้งคราว เช่น Aluminium hydroxide , magnesium hydroxide เป็นต้น
• ยากลุ่มกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (Prokinetics) เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารทำให้อาหารเคลื่อนออกจากกระเพาะอาหารเร็วขึ้น เช่น Metoclopamide , Domperidone เป็นต้น
• ยากลุ่ม H2 Receptor Antagonists ออกฤทธิ์ยับยั้งฮีสตามีน(Histamine)ไม่ให้จับตัวกับตัวรับในกระเพาะอาหารทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดลดลง เช่นCimetidine,Famotidine,Ranitidine เป็นต้น
• ยากลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม(Proton Pump Inhibitors:PPI) ยับยั้งโปรตอนปั๊มที่อยู่ในกระเพาะอาหารซึ่งเป็นกลไกขั้นสุดท้ายในการหลั่งกรด จึงสามารถลดการหลั่งกรดได้สมบูรณ์ เช่น Omperazole,Esomeprazole,Pantoprazole เป็นต้น
ในปัจจุบันยากลุ่มยับยั้ง Proton Pump เป็นยาที่ให้ผลการรักษาได้ดีที่สุด มีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดการหลั่งกรด และได้ผลเร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ คุณอาจต้องรับประทานยานี้ติดต่อกันนาน 6-8 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น ขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์ และเมื่อคุณสามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตได้ แพทย์อาจปรับลดขนาดยาลงทีละน้อย
เมื่อไหร่จึงต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ในรายที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อนรุนแรงจนใช้ยาเต็มที่แล้วไม่ได้ผล หรือมีข้อห้ามในการกินยา รวมทั้งไม่ต้องการรับประทานยาตลอดเวลา หรือเป็นซ้ำบ่อยหลังหยุดยา ซึ่งพบได้ร้อยละ 10 ของผู้ป่วย แพทย์อาจพิจารณาใช้การผ่าตัดเป็นทางเลือกในการรักษา
รับประทานยาอย่างไรให้ได้ผลดี
การรับประทานยาอย่างถูกต้อง และครบถ้วนตามคำแนะนำของแพทย์มีความสำคัญอย่างมากต่อการรักษาโรคกรดไหลย้อนให้หาย เมี่อคุณเริ่มรับประทานยาไปได้ระยะหนึ่ง อาการต่างๆ จะดีขึ้น แต่อย่าหยุดยาเองต้องรับประทานจนครบตามแพทย์สั่ง เพราะอาการอาจกลับมาเป็นซ้ำอีกได้หลังจากคุณหยุดยาเอง ก่อนรับประทานยาอื่นๆ โดยเฉพาะยารักษาอาการอักเสบ ปวดข้อ และแอสไพริน คุณต้องตรวจสอบกับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ เนื่องจากยาเหล่านี้มักระคายเคืองเยื่อบุทางเดินอาหาร และอาจทำให้อาการแย่ลง
เมื่อไรต้องรีบพบแพทย์
ถึงแม้ว่าโรคกรดไหลย้อนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรง แต่ไม่ควรละเลยโดยไม่รักษาเพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้ ทั้งนี้หากพบแพทย์เพื่อรักษาแล้ว คุณยังมีอาการหล่านี้เกิดขึ้น ต้องปรึกษาแพทย์ทันที
• อาเจียนบ่อย หรือมีเลือดปน
• กลืนติด หรือกลืนลำบาก
• อุจจาระมีสีดำเข้ม หรือมีเลือดปน
• อ่อนเพลีย ซีด
• น้ำหนักลดอย่างต่อเนื่องโดยไม่สาเหตุ
• กินยาครบตามแพทย์สั่งแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
คำถามที่พบบ่อย
Q: ถ้าเป็นโรคกรดไหลย้อนควรนอนตะแคงซ้ายจริงหรือไม่?
A: การนอนตะแคงขวาอาจทำให้อาการของโรคกรดไหลย้อนกำเริบขึ้นได้บ่อยกว่าการนอนตะแคงซ้าย เนื่องจากในท่านอนตะแคงขวา กระเพาะอาหารจะอยู่เหนือหลอดอาหารทำให้มีแรงกดต่อหูรูดหลอดอาหารให้เปิดออกง่ายขึ้น จนเกิดการไหลย้อนกลับของกรด จึงเป็นที่มาของคำแนะนำให้ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนนอนตะแคงซ้ายนั่นเอง
Q: โรคกรดไหลย้อนสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
A: โดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นๆ หายๆ เนื่องจากหูรูดหลอดอาหารยังคงทำงานไม่ดี ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการนานๆ ครั้ง แต่บางรายก็เป็นบ่อยมากอย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเกือบทุกรายจะมีอาการดีขึ้นได้จากการปฏิบัติตัวดังที่แนะนำไปแล้วนั้น และการมาตรวจตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ